โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จับมือภาคเอกชนเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้การบำบัดอากาศด้วยหลักการเชิงไฟฟ้าสถิตสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ | กองบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา จับมือภาคเอกชนเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้การบำบัดอากาศด้วยหลักการเชิงไฟฟ้าสถิตสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 5 มีนาคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 4063 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

   วันที่ 5 มีนาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วยนายสุริยัณห์ คำแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเซนต์ ออโตเมชั่น จำกัด เข้าพบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อรายงานความก้าวหน้าการเซ็นสัญญาถ่ายทอดองค์ความรู้  “การบำบัดอากาศด้วยหลักการเชิงไฟฟ้าสถิต” เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ สู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยให้สิทธิประโยชน์ในผลงานวิจัยตามเงื่อนไขเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2567 ถึง พ.ศ.2570
   สำหรับเครื่องบำบัดอากาศระบบไฟฟ้าสถิต ที่มีการทำงาน 2 ขั้นตอนหลัก คือ การดักจับฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 ด้วยระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic ionizer) แล้วจึงฆ่าทั้งแบคทีเรียและไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศด้วยระบบนอนเทอร์มอลพลาสมา (Non-thermal plasma) ก่อนจะปล่อยอากาศสะอาดคืนสู่ภายนอก โดยเทคโนโลยีนี้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพตามมาตรฐาน ASNI/AHAM AC-1-2002 และ JIS Z 2801:2000 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประสิทธิภาพของเครื่องนี้เทียบเท่าเครื่องกรองที่มีการจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด คือ สามารถกำจัดฝุ่นออกจากอากาศได้มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99 และสามารถกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส รวมถึงกลิ่นได้ ด้วยเทคโนโลยีการกำจัดแบบไฟฟ้าสถิตจึงช่วยลดจำนวนขยะแผ่นกรองที่จะต้องเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย เทคโนโลยีนี้มีการออกแบบให้สามารถขยายขนาดพื้นที่การใช้งาน (Upscale) ได้ง่าย จึงสามารถนำไปใช้งานได้กับพื้นที่ที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบภายในอาคารอย่างภายในที่อยู่อาศัย สถานประกอบการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมถึงโรงพยาบาล และสามารถใช้งานภายนอกอาคารในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การทำเป็นหอคอยเพื่อกรองฝุ่นละอองภายในอากาศ ผลงานเครื่องบำบัดอากาศระบบไฟฟ้าสถิตได้มีการเผยแพร่ในวารสารสำคัญและมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีจากสภาวิจัยแห่งชาติ






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา